วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552

“สังคมไทยกับ ร”

“สังคมไทยกับ ร”

อยากให้ความเห็นครับ เกี่ยวกับภาษาไทย อย่างน้อยก็อยากให้เราเก็บไว้เป็นข้อคิด และรอวันที่จะมีการปฏิรูปภาษาไทยอย่างเป็นทางการ เช่น มีการสร้าง ตำราอ้างอิงภาษาไทยมาตรฐาน เพราะว่า เสียดาย ที่เราไม่มีตำรานี้ จริงมั้ยครับ ท่านราชบัณฑิตฯ

ทุกวันนี้ สังคมไทยช่วยกันชี้ให้คนไทยออกเสียง ร ให้ถูก. ผมนั้นก็เห็นด้วย ทำตาม แต่มิได้สนับสนุน! ผมรักภาษาไทยมาก คือ รักมากกว่าคนไทยส่วนใหญ่ สนใจ ศึกษาด้วยตนเอง โดยขอสรุปไว้เป็นข้อคิดว่า ภาษาไทยมีสิ่งใดที่เปลี่ยน และที่ขาดหายไป อย่างน่าเสียใจ เช่น
1. ภาษาเขียนไทยขาดการเว้นวรรคที่ถูกต้อง และขาดระบบเว้นวรรค
2. ภาษาเขียนไทยขาดเครื่องหมายวรรคตอนที่ใช้ในอดีต เช่น ฟองมัน โคมูตร
3. ภาษาเขียนไทยขาดเครื่องหมายวรรคตอนสากล ที่ดำริ และริเริ่มให้นำมาใช้โดยพราะมหากษัตริย์
4. ภาษาเขียนไทยเปลี่ยนการสะกดคำไปหลายคำ
5. ภาษาเขียนไทยเลิกการใช้ ฃ และ ฅ (หรือว่า ไม่เคยได้นำมาสู่ความนิยมใช้!)


ข้อสรุปข้างบนมีทั้งที่รู้จักกันทั่วไป และที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยิน. ผมภูมิใจที่ผมได้ใช้เครื่องหมายวรรคตอน ที่ส่งเสริมโดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย, สำนักพระราชวัง และบางพระราชวงศ์ (หนังสือพิมพ์หนึ่งก็เคยนิยมใช้). ขอข้ามเรื่องที่ขึ้นต้นนี้ไป (เพื่อให้เกิดความอยากรู้กับผู้อ่าน) ทั้งที่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อคนไทยทั้งชาติ และความภูมิใจมากขึ้นต่อลูกหลาน โดยกลับมาเรื่องที่ ไม่ได้ค้าน แต่ก็ไม่ได้สนับสนุน!

ผมเห็นด้วยครับที่คนไทยควรออกเสียง ร ให้ถูกมาตรฐาน. แต่ผมก็ไม่เคยบอกให้หลาน หรือใครออกเสียงที่ถูกนั้นทุกครั้ง เพราะว่า (1) ออกยาก เสียเวลา (อ๊ะ..อย่าเพิ่งว่าผมน๊ะ ถ้าคำว่าเสียเวลา ไม่เป็นเหตุผลที่ดี) และ (2) ผมยังไม่เคยเห็นใครออกเสียง ร ได้ถูก อย่างเป็นธรรมชาติตลอดเวลา แม้กระทั่ง คุณชมะนันท์ (สะกด!) ผู้ได้รับรางวัลเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยได้ดี และผมเสียใจที่ขอกล่าวว่า แม้แต่ท่านรองฯ ผู้ให้รางวัล ก็ไม่สามารถ ออกเสียง ร ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ของ ร ส่วนใหญ่ ในวันที่ออกรายการทีวี ที่กล่าวถึงการส่งเสริมให้ออกเสียง ร. (ผมอัดเสียงเธอไว้เป็นหลักฐาน)

เหตุผลของการออกเสียง ร คือ ต้องการให้แยกออกว่า ออกเสียงใด. มีเหตุผลดีครับ น่าสนับสนุน แต่ว่า หากวิเคราะห์แล้ว ก็รู้สึกว่า ภ.ไทยขาดความคงที่ ทำให้รู้สึกว่า ภูมิใจลดลงไปขึ้นมา! เหตุผล?
1. ทำไมเราไม่ออกเสียง ร ในทุกคำที่มี ร. กลับกลายเป็นว่า คำไหนออกเสียง ร ยาก ก็ตั้งกฎ ไม่จำเป็นต้องออกเสียงนั้น ทั้งที่ออกเสียงนั้นได้ โดยมาให้ความรู้นี้ในรายการส่งเสริมภาษาไทย ทางทีวี. คำทียกเว้น (ถ้าจำไม่ผิด) คือ จริง. ทำไมต้องยกเว้น ก็ออกเสียงได้นี่ครับ.
2. ร และ ล แล้ว ฬ ล่ะ? อีกทั้ง ณ และ น, และ ส, ศ และ ษ ล่ะ? ทำไมเราไม่ออกเสียงทั้งหมด ให้ต่างกัน จะได้เป็นตามเหตุผลที่ต้องการ ออกเสียง ร. เป็นไปได้หรือไม่ ว่าอดีตคนไทยออกเสียงอักษร เหล่านี้ต่างกัน? หากไม่ เราควรออกเสียงให้ต่างกันหรือไม่ จะได้สอดคล้องกับเหตุผลออกเสียง ร.
3. หากเหตุผลอีกข้อคือ ต้องการอนุรักษ์? ถ้าเช่นนั้น มีอีกหลายประการในภาษาไทย ที่ควร อนุรักษ์ เพราะมีประโยชน์ แล้วเราละทิ้งกัน เพราะเหตุใด? เช่น การใช้เครื่องหมายวรรคตอนให้ถูกต้อง และการใช้วรรคตอนอย่างเป็นระบบ.

แม้ผมจะออกเสียง ร ถูกต้อง และเห็นด้วยกับการส่งเสริมให้ออกเสียง ร ให้ถูกต้อง แต่ผมก็เห็นว่าในเรื่องภาษาแล้ว เราไม่ควรมุ่งแต่ อนุรักษ์ เพราะอนุรักษ์มิได้หมายความว่า “พัฒนา.”

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 มีนาคม 2552 เวลา 13:37

    คำมากมายก็พ้องเสียง... จนมีผู้นำมาเป็นจุดขายในการโฆษณา.. เช่น

    อยากรวยต้องมี 'หนี้/นี่'
    น่าจะเป็นคำไหน?

    โฆษณานี้เกี่ยวกับ "กระปุกออมสิน"

    คำพ้องเสียง พ้องรูปมีเยอะ ก็น่าจะปรับปรุง แต่คงยาก ที่ง่ายกว่า คือ สร้างภ.ไทยให้มีมาตรฐานขึ้นจริง ไม่น่าจะพูดไป พูดมา ไม่มีใครทำ แม้แต่องค์กรที่เฉพาะ ที่ควรทำ!

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ17 มีนาคม 2552 เวลา 13:41

    คำภาษาอังกฤษที่คนไทยใช้ ติดอยู่ที่ป้ายบอกทาง เพื่อสื่อให้ชาวต่างชาติรู้ความหมาย ก็ต้องเป็นคำที่คนไทยดูแล เช่น Ko Kret และ Map Ta Phut

    คำเหล่านี้ ต่างชาติอ่านแล้ว ก็ออกเสียงไม่ตรง เป็นปัญหา ส่วนคนไทยก็เห็นเป็นเรื่องปกติ มีคนไทยส่วนน้อย และเฉพาะที่คุ้นเคย เท่านั้น จึงเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้. ภาษายังไม่ชัดเจน

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ3 เมษายน 2552 เวลา 10:50

    ดญ. นกน้อย ได้ยินคุณลุงพูดว่า "ฟาร์มีลูกวัวน้อย เนื่องจากวัวไม่เป็นสัตว์" เธอครุ่นคิดตลอดวัน จนมีโอกาสถามคุณลุงว่า "วัวเป็นสัตว์นี่ค่ะ? ก็มีสี่ขา เหมือนสุนัข." คุณลุง งงเล็กน้อย และตอบว่า "ใช่จ๊ะ วัวและหมาเป็นสัตว์เหมือนกัน" นกน้อยเอียงคอ....แววตายิ่งสงสัย...

    ความสับสนเกิดขึ้น เมื่อคุณลุงตั้งใจพูดว่า "วัวเป็นสัด"

    ====

    ตอบลบ

Be honest & happy :-)